17
ก.พ.
Off

โซเชียลเกมและเกมบนมือถือ Smart Phone จะเป็นพระเอก

แม้ผมจะไม่ใช่หมอลักษณ์นักฟันธงก็ตาม แต่ก็กล้าที่จะฟันธงว่าในปี 2555 นี้ โซเชียลเกมและเกมบนมือถือ Smart Phoneจะเป็นดาวเด่นของอุตสาหกรรมเกมไทยในปีหน้านี้ ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนในหลายๆด้านและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของกระแสไอทีทำให้เป็นช่วงขาขึ้นของทั้งผู้พัฒนาและผู้ให้บริการเกมประเภทในไทยเลยทีเดียว

สำหรับโซเชียลเกมนั้นเป็นกระแสที่กำลังมาแรงในบ้านเราอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ที่คนไทยนิยมใช้งานมากที่สุดคือ Facebook รองลงมาคือ Twitter, Hi-5 โดยจากข้อมูลจาก marketingoopsและ checkfacebook.comได้แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของยอดผู้ใช้งาน Facebook ในไทย โดยในปี 2010 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2010 ประเทศไทยมีผู้ใช้งาน Facebook อยู่ที่ 1,963,560คน และได้ขยายฐานผู้ใช้ขึ้นเป็น6,732,780 คนภายในเวลา 1 ปีเท่านั้น คิดเป็นอัตราการเติบโตอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia) โดยมีค่าการเติบโตสูงถึง 343% เลยทีเดียว และในปี 2011 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ มียอดผู้ใช้งาน Facebook ณ เดือนธันวาคม 2011 จำนวนทั้งสิ้น 12,881,800 คน ซึ่งหากเทียบกับจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่อยู่ที่ประมาณ 22 ล้านคนจะมีสัดส่วนที่ประมาณ 60% เลยทีเดียว ซึ่งหากเจาะลึกเข้าไปในรายละเอียดจะพบว่ากลุ่มช่วงอายุของผู้ใช้งาน Facebook ที่ใหญ่ที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุ 18-24 ปีเป็นกลุ่มหลัก ซึ่งคิดเป็น 34.0% ของสัดส่วนผู้ใช้งาน Facebook ทั้งหมด และกลุ่มช่วงอายุ 25-34 ปีเป็นกลุ่มรองลงมาคิดเป็น 28.6%
จากข้อมูลในเบื้องต้นจะเห็นว่ากลุ่มผู้ใช้งาน Facebook กลุ่มหลัก จะเป็นนักศึกษา-คนทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความบันเทิงและ Lifestyle จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จากการสำรวจพบว่าคนไทยมากกว่า 50% หรือประมาณ 6 ล้านคนเล่นโซเชียลเกมบน Facebook ซึ่งหากเทียบกับตลาดเกมออนไลน์ที่ฐานผู้เล่นอยู่ประมาณ 8 ล้านคน จะพบว่าจำนวนผู้เล่นโซเชียลเกมมีจำนวนที่ใกล้เคียงสูสีกับตลาดเกมออนไลน์เป็นอย่างมาก ซึ่งหากประเมินจากข้อมูลการเติบโตของผู้ใช้งาน Facebook แล้วเชื่อว่าในปี 2555 นี้ จำนวนผู้เล่นโซเชียลเกมจะแซงเกมออนไลน์ไปได้อย่างไม่ยาก เพราะในปัจจุบันฐานคนเล่นเกมออนไลน์ในไทยเริ่มจะอิ่มตัวแล้ว
สำหรับตลาดเกมบนมือถือ Smart Phone นั้นก็มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยกระแสของระบบ 3G กำลังทำให้มาตรฐานของโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนไปจากเดิม โทรศัพท์มือถือทั่วไปที่เป็น Feature Phone กำลังจะหมดไป และตลาดกำลังถูกแทนที่ด้วย Smart Phone แทน ต้องขอขอบคุณ Google ที่รังสรรค์ระบบปฏิบัติการมือถือ Android ให้เป็นระบบเปิด ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือชั้นนำหลายบริษัทฯ อาทิ Samsung, LG, HTC, Sony Ericson ใช้เป็นฐานของโทรศัพท์มือถือยุคถัดไป แม้ในปัจจุบันในประเทศไทย ยอดผู้ใช้ Smart Phone อันดับหนึ่งจะยังคงเป็น Nokia อยู่ก็ตาม แต่ก็ต้องเรียกว่ากระแสความนิยมถดถอยลงเรื่อยๆ ขณะที่กระแสของ iOS ของค่าย Apple โตอย่างพรวดพราด ตามมาด้วย Black Berry และ Android
สิ่งที่เป็นตัวชี้ชะตาของ Smart Phone ในวันนี้ไม่ใช่ความสามารถหรือสเปกเครื่องอีกต่อไป หากแต่เป็น Application หรือซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดเข้ามาใช้ในเครื่องของตนนั่นเอง และสิ่งนี้เองทำให้ตลาดเกมบนมือถือ Smart Phone กลายเป็นดาวรุ่งด้วยใหม่ เพราะทั้ง App Store และ Android Market ทำให้รูปแบบการขายเกมบนมือถือแตกต่างไปจากเดิม
จากอดีตที่ผู้พัฒนาเกมต้องนำเกมไปฝากไว้กับผู้ให้บริการคอนเท็นต์ (Content Provider) ซึ่งจะต้องโดนหักส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 40-50% แล้วก็ยังต้องโดนหักค่าบริการมหาโหดจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในบ้านเรา ที่เอาส่วนแบ่งสูงถึง 50% จากรายได้ทั้งหมด (กรณีดาวน์โหลดผ่านระบบ IVR/SMS) ซึ่งนั้นหมายความว่าจะเหลือเงินกับไปยังผู้พัฒนาเกมประมาณ 25% จากราคาขายปลีกเท่านั้น นอกจากนั้นช่องทางในการจัดจำหน่ายในต่างประเทศยังเป็นเรื่องยาก เพราะต้องติดต่อผู้ให้บริการคอนเท็นต์ในแต่ละประเทศ (Local Content Provider) เป็นรายๆไป ทำให้ผู้พัฒนาเกมมือถือในประเทศมักท้อและเลิกพัฒนาเกมบนมือถือแทบทั้งหมด จนกระทั่งตลาดเกมมือถือกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องจากผู้พัฒนาสามารถที่จะนำเกมของตนที่พัฒนาเสร็จสิ้นแล้วขึ้นระบบ App Store หรือ Android Marketและขายให้ลูกค้าทั่วไปได้ทันทีไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลางอีกต่อไปนอกจากนั้นแล้วยังสามารถขายได้ทั่วโลก โดยเสียค่าสมัครแรกเข้าเพียง 99เหรียญสำหรับ App Store และ 25 เหรียญสำหรับAndroid Marketโดยจะเสียส่วนแบ่งจากการจัดจำหน่ายเกมเพียง 30% ของรายได้เท่านั้น ด้วยปัจจัยข้างต้นทำให้นักพัฒนาหลายๆ ทีมเริ่มกลับมาพัฒนาเกมบนมือถืออีกครั้งหนึ่ง

โซเชียลเกมจะเบียดแซงตลาดเกมออนไลน์
ในปี 2012 นี้ ฐานผู้เล่นโซเชียลเกมจะเติบโตและเริ่มเบียดตลาดเกมออนไลน์อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากปัจจุบันฐานผู้เล่นเกมออนไลน์ในไทยเริ่มอิ่มตัว ขณะที่ฐานผู้เล่นโซเชียลกลับเติบโตขึ้นเรื่อยๆตามจำนวนผู้ใช้งาน Facebook รวมถึงผู้เล่นเกมออนไลน์ในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมเล่นเกมบนโซเชียลเกมมากขึ้น เพราะมีปัจจัยสนับสนุนหลายๆ ด้าน อาทิเช่น

ความสะดวกในการเข้าถึงเกม
โซเชียลเกมมีข้อดีคือไม่มีขั้นตอนการลงทะเบียนให้ยุ่งยาก ผู้เล่นเพียงแค่เข้า Facebook ก็สามารถเข้าเล่นเกมได้ทันที ต่างจากเกมออนไลน์ที่ผู้เล่นต้องมีการลงทะเบียนกับผู้ให้บริการก่อน นอกจากนั้นเกมบางเกมยังต้

ไม่ต้องติดตั้งเกม
โซเชียลเกมสามารถที่จะเปิดเล่นได้เลยทันทีจาก Web browser โดยที่ผู้เล่นไม่ต้องเสียเวลาดาวน์โหลดเกมมาติดตั้งในเครื่อง ทำให้สะดวกและเริ่มเล่นได้เร็ว ผิดกับเกมออนไลน์ที่ต้องมานั่งเสียเวลาดาวน์โหลดตัวติดตั้ง ดาวน์โหลดเสร็จแล้วก็ต้องมานั่งแพตช์เกม (Patch game) อีก บางครั้งผู้เล่นอาจต้องรอเป็นชั่วโมงๆ เพื่อให้ได้เล่นเกม ต่างจากโซเชียลเกมที่ใช้เวลาโหลดสั้นๆ ก็เข้าเล่นได้เลย

สามารถเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา
โซเชียลเกมส่วนมากจะใช้เทคโนโลยี Flash จึงทำให้มีผู้เล่นจำนวนไม่น้อยที่เล่นเกมดังกล่าว ผ่านทาง Tablet ทำให้สามารถเล่นกมได้ทุกที่ทุกเวลาทีอยากจะเล่น นอกจากนั้นแล้วเกมบางเกมยังออกไปให้สามารถเล่นบนโทรศัพท์มือถือ Smart Phone ได้อีกด้วยเช่น FarmVille ของค่าย Zynga

เชื่อมโยงเพื่อนๆ ได้ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก
สิ่งที่นับว่าเป็นจุดเด่นสุดๆ ของโซเชียลเกมเลยก็คือการใช้ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กเข้ามาในเกม อาทิเช่นการส่งของขวัญให้เพื่อนผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก การขอความช่วยเหลือในเกมผ่านทางหน้า Wall ของผู้ใช้งาน นอกจากนั้นแล้วผู้เล่นยังสามารถเช็กได้ว่าเพื่อนๆ เรากำลังเล่นเกมอะไรอยู่ ทำให้เราสามารถเข้าไปร่วมเล่นด้วยกันได้ อันนี้นับเป็นข้อเด่นที่ระบบเกมอื่นๆ ไม่มีเลยทีเดียว
นอกจากนั้นแล้วในปี 2012 เหล่ากูรูทางด้านไอทีเชื่อว่า ทาง Google ยักษ์ใหญ่แห่งวงการไอทีจะเปิดตัว Google+ ระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กตัวใหม่ให้ใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ในปี 2011 ได้มีเปิดตัวทดลองให้บริการแบบ Beta แล้วได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยมีจำนวนผู้สมัครเข้าใช้มากกว่า 25 ล้านรายภายในเวลาเดือนเดียว ล่าสุดวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ทาง Google ได้เพิ่มโซเชียลเกมเข้าไปใน Google+ ทั้งสิ้น 16 เกมในชุดแรก โดยมีเกมแม่เหล็กอย่างวิหคโกรธา หรือ Angry Bird ด้วย พร้อมทั้งได้สร้างแรงดึงดูดให้นักพัฒนาเกมหน้าใหม่เข้าไปสร้างเกมโดยเสนอการเก็บค่าบริการเพียง 5% ของรายได้เท่านั้น ในขณะที่คู่แข่ง Facebook เก็บค่าบริการจากรายได้ 30% เรียกว่าวินาทีนี้นักพัฒนาโซเชียลเกมกลายเป็นเนื้อหอมในวงการเลยทีเดียว จากปัจจัยในข้างต้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมโซเชียลเกมในไทยถึงเติบโตเป็นอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดีหากเทียบมูลค่าตลาดแล้ว ตลาดเกมออนไลน์ยังมีขนาดใหญ่กว่าโซเชียลเกมอยู่มากโดยในปี 2011 ประมาณการณ์ว่ามูลค่าตลาดเกมออนไลน์ในไทยจะอยู่ที่ 4,300ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าตลาดโซเชียลเกมอยู่ที่ 500 ล้านบาทเท่านั้น เหตุเพราะผู้เล่นโซเชียลเกมมักจะเล่นเกมด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการฆ่าเวลาและไม่มีความจริงจังในการแข่งขันมากเท่าเกมออนไลน์ ทำให้ปริมาณการใช้จ่ายเงินในเกมมีน้อยกว่า โดยปกติแล้วเกมออนไลน์จะมีอัตราส่วนของผู้เล่นที่เติมเงินในเกมอยู่ที่ประมาณ 4-7% ของฐานผู้เล่นเกมทั้งหมด แต่โซเชียลเกมจะมีอัตราส่วนของผู้เล่นที่เติมเงินในเกมอยู่เพียง1-3% เท่านั้น นอกจากนั้นแล้วจำนวนเงินที่เติมยังน้อยกว่าอีกด้วย

ตลาดเกมออนไลน์จะกลายเป็นสงครามเลือด
แม้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดเกมออนไลน์จะอยู่ในช่วงขาขึ้นและมีอัตราการเติบโตสูงเฉลี่ยปีละ 16.2% ทุกปี หนำซ้ำยังเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สุดในอุตสาหกรรมเกม ด้วยมูลค่ามากกว่า 4,300 ล้านบาทก็ตาม แต่ปัจจุบันฐานของผู้เล่นเริ่มคงตัว ประกอบกับมีเกมจำนวนมากเปิดให้บริการ โดยในเดือนตุลาคมปี 2554 มีเกมออนไลน์เปิดให้บริการในไทยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 128 เกม โดยเกมที่ได้เปิดให้บริการนั้นมีทั้งเกมที่ผลิตพัฒนาโดยบริษัทไทยและเกมที่ซื้อลิขสิทธิ์นำเข้ามาจากต่างประเทศ และจากการคาดการณ์ปี 2555 จะมีเกมใหม่เข้ามาเปิดบริการในบ้านเราเพิ่มอีก 70 เกม โดยไม่รวมเกมที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน
ด้วยการเพิ่มขึ้นของจำนวนเกมที่ให้บริการชนิดที่ว่าเปิดใหม่ในทุกๆ สัปดาห์ ทำให้จำนวนคนเล่นเกมต่อหนึ่งเกมลดจำนวนลง ทำให้ผู้ให้บริการเกมมีทางเลือก 2 ทาง คือ เน้นเกมที่มีคุณภาพซึ่งส่วนมากมักเป็นเกมที่มีชื่อเสียงดังอยู่แล้วในต่างประเทศมาเปิดให้บริการเพื่อใช้กระแสของเกมดังในการดึงกลุ่มผู้เล่นมาจากเกมออนไลน์อื่นๆ แต่วิธีการนี้ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะเกมออนไลน์ที่ดังๆ มักมีค่าลิขสิทธิ์แพง อีกทั้งต้องลงงบการตลาดสูงเพื่อสร้างกระแสให้เกิด หากเกิดข้อผิดพลาดหรือเกมไม่ดังเหมือนในต่างประเทศ ผู้บริการก็มีสิทธิหลังหักได้ง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยได้รับการขนานนามว่าเป็นตลาด “ปราบเซียน” มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เกมบางเกมว่าดังๆ แน่ๆ มาไทยแล้วแป้กไปหลายเกมก็มี หรืออีกแนวทางหนึ่งก็คือ เน้นเปิดให้บริการเกมออนไลน์ที่มีคุณภาพธรรมดาทั่วๆ ไปแต่เน้นจำนวนเกมมาก ซึ่งแน่นอนว่าจำนวนผู้เล่นในแต่ละเกมคงไม่หวือหวามีจำนวนมากเท่ากับเกมดังๆ แต่เม็ดเงินในการลงทุนก็ย่อมน้อยกว่าและมีความปลอดภัยที่สูงกว่า อาศัยจำนวนมากเข้าว่า หากมีเกมใดเกมหนึ่ง “เข้าตากรรมการ” ก็สบายไป (ซึ่งจากที่ผ่านมา ก็มีหลายเกมแล้วที่เป็นม้านอกสายตา ไม่เป็นที่นิยมในต่างประเทศแต่กับดังในบ้านเราแทน) ซึ่งในระยะหลังผู้ให้บริการเกมหลายค่ายเริ่มที่จะใช้กลยุทธ์แบบหลัง ซึ่งในระยะยาวย่อมไม่เกิดผลดีกับตลาดแน่นอนเพราะจะทำให้ฐานผู้เล่นยิ่งกระจายตัวออกไป อย่างไรก็ดีปี 2555 ผู้ให้บริการเกมออนไลน์จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ และงัดสรรพกำลังทางการตลาดออกมาฟาดฟันกันเพื่อให้อยู่รอดในสงครามทะเลเลือดนี้ให้ได้

มือถือระบบแอนดรอยด์จะเติบโตสูงขึ้นเบียดกับระบบ iOS ของ Apple
แม้ในปัจจุบันผู้ใช้งานมือถือ Smart Phone ระบบ Android ในไทยจะยังรั้งท้าย จากอันดับที่หนึ่งซึ่งยังคงเป็นของระบบปฏิบัติการ Symbian ของ Nokiaตามด้วย BlackBerryเป็นอันดับที่สอง, ระบบปฏิบัติการ iOS ของ Apple เป็นอันดับที่สามก็ตาม แต่ถ้าดูทิศทางแล้วอนาคตของ Androidจะแจ่มใสมากในปี 2555 นี้ เหตุเพราะปัจจัยเกื้อหนุนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวระบบปฏิบัติการมือถือ Android เองก็ดีที่เป็นระบบเปิด ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือชั้นนำใช้เป็นมาตรฐานของโทรศัพท์มือถือยุคถัดไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Samsung ที่ในไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ2 รองจาก Nokia ได้ใช้ Androidในมือถือ Smart Phone และ Tablet ของตน แทนที่ Bada ระบบปฏิบัติเดิม นอกจากนั้นราคาเครื่องที่ไม่แพงเกินไปหากเทียบกับ Smart Phone อื่นๆ อีกทั้งยังมี Application จำนวนหลายแสนใน Android Market ที่พร้อมให้ดาวน์โหลด ทำให้วันนี้ Androidกลายเป็นทางเลือกที่หลายๆคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น
หากมองในตลาดสากลบ้าง จากข้อมูลของ comScore พบว่า ปัจจุบันในเดือนกรกฎาคม 2011มีผู้ใช้ Smart Phone ในสหรัฐทั้งสิ้น 82.2 ล้านคน โดยเป็นระบบปฏิบัติการ Android เป็นอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 41.8% (เพิ่มขึ้นจาก 36.4% ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน) ขณะที่ระบบปฏิบัติการ iOS ของ Apple ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 27% (เพิ่มขึ้นจาก 26%) ส่วนอันดับที่ 3 คือ BlackBerry ซึ่งประสบปัญหากระแสความนิยมตก ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงจาก 25.7% เป็น 21.7% ภายใน 3 เดือน เช่นเดียวกับค่าย Microsoft ที่มีส่วนแบ่งตลาดลดลงจาก 6.7% เป็น 5.7% และระบบปฏิบัติการ Symbian ของ Nokia ก็ลดลงจากเดิม 2.3% มาเป็น 1.9% จากปัจจัยดังกล่าว คาดว่ากระแส Android ในไทยจะมาแรงและเชื่อว่าจะเบียดแซงหน้ารุ่นพี่มาขึ้นแท่นอันดับที่สองในปีหน้านี้ได้ในที่สุด

สำหรับในฉบับหน้า ผมจะท่านผู้อ่านไปพบกับกระแสตลาดเกมในต่างประเทศว่า ในปีหน้าจะเกิดอะไรขึ้นในตลาด รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเกมในอนาคต สำหรับฉบับนี้ต้องขอสวัสดีส่งท้ายปีเก่า ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านมีแต่ความสุขตลอดทั้งปีหน้าและตลอดไป สวัสดีปีใหม่ครับ.

ป้ายกำกับ:, ,